top of page

“เหล่าคนทำหนัง จงอย่าหยุดส่งหนังชนโรง” จากการปิดตัวของโรงหนังสแตนด์อะโลนทั่วโลกสู่กระแสรณรงค์ สู้พิษสตรีมมิงที่งานออสการ์



ในยุคที่สตรีมมิงเป็นใหญ่ ไม่ว่าฮอลลีวูดจะกู้ชีพธุรกิจจอเงินกลับมาได้หรือไม่ อย่างไรเหล่ากระบอกเสียงก็ขอลองเรียกร้องดูก่อนสักตั้ง ที่งานออสการ์ 2025

.

ออสการ์จบแล้ว แต่โชว์ฮอปยังไม่จบจ้ะ นอกเหนือจากสุดยอดผลงานที่ได้รางวัลแล้ว ก็มีประเด็นมากมายที่ยังตกค้างอยู่ในใจ (และในออฟฟิศที่เรารัก) หนึ่งในนั้นคือเทรนด์เรียกร้องเพื่อโรงหนังที่ถูกจุดขึ้นในงานคืนนั้น

.

หนึ่งซีนใหญ่ที่ได้ใจเราทุกคน คือละครสั้นเนื้อหาจิกกัดอุตสาหกรรมสตรีมมิงของโคแนน โอ’ไบรอัน (Conan O’Brien) แห่ง SNL ในเรื่อง เขารับบทคนที่มาพิตช์ขายไอเดียล้ำยุคที่ (อ้างว่า) ริเริ่มมาเพื่อภาพยนตร์โดยเฉพาะ “CinemaStream” โดยการเอาสมาร์ตโฟนกว่า 800 เครื่องมาต่อกันเป็นจอสตรีมมิงขนาดยักษ์เสียจนเพลียจิต จนชวนให้คิดว่าหากจะทำต้องขนาดนี้ เราไปดูหนังที่โรงกันดีกว่าไหม!

.

ขณะที่ฌอน เบเกอร์ (Sean Baker) เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลมากถึง 5 สาขาในงานเดียวอย่าง Anora เอง ก็พูดถึงเรื่องนี้ด้วยเสียงดังฟังชัด

.

“เราทุกคนมารวมตัวกันที่นี่และรับชมงานนี้ถ่ายทอดสดกันคืนนี้เพราะเราคือคนรักหนัง ถามว่าเราตกหลุมรักหนังกันที่ไหน? โรงหนังไงครับ” เขากล่าว “การชมภาพยนตร์ในโรงโดยมีเพื่อนร่วมชมไปด้วยกันเป็นประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้เราได้หัวเราะและร้องไห้ไปด้วยกัน ในโลกยุคปัจจุบันที่เราถูกแบ่งแยกให้ห่างไกลจากกัน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง มันคือประสบการณ์ร่วมที่คุณหาไม่ได้จากที่บ้าน แต่ตอนนี้โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงภาพยนตร์อิสระกำลังประสบปัญหาหนัก”

.

“เราสูญเสียโรงหนังไปกว่าหนึ่งพันแห่งในช่วงโรคระบาด และกระทั่งในปัจจุบันเราก็ยังสูญเสียพวกเขาไปเรื่อยๆ เป็นประจำทุกวัน ถ้าเราไม่ต้านกระแสนี้เอาไว้ เราจะต้องสูญเสียส่วนที่สำคัญมากของวัฒนธรรมภาพยนตร์ ขอให้สุนทรพจน์ที่ผมกำลังกล่าวอยู่นี้เป็นเสียงโห่ร้องปลุกใจให้คุณลุกขึ้นสู้”

.

เหล่าคนทำหนัง จงอย่าหยุดส่งหนังชนโรง ตัวแทนจัดจำหน่าย จงโฟกัสการปล่อยหนังที่เข้าโรงก่อนเป็นอย่างแรก พ่อแม่ผู้ปกครอง จงแนะนำหนังเรื่องยาวที่เข้าโรงใกล้บ้านท่านให้ลูกหลานรู้จัก ถ้าได้ลูกคุณจะเติบโตมาเป็นคนรักหนักและคนทำหนังเช่นเดียวกันกับคุณ และเราทุกคน จงไปดูหนังในโรงในทุกโอกาสที่เราทำได้ มาช่วยกันกู้ชีพวัฒนธรรมการไปดูหนังโรงอันหยิ่งใหญ่ของเราให้คงอยู่ต่อไป”

.

และนั่นได้ก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของคนรักหนังมากมายที่ฟังอยู่ จนนักเขียน-นักวิจารณ์ของ The New York Times ถึงกับหยิบสุนทรพจน์ของเบเกอร์ไปเขียนถึง โดยพาดหัวว่า “เสียงโห่ร้องปลุกใจจากฌอน เบเกอร์ (และจากฉัน)”

.

นอกจากสองคนนี้ อีกคนที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยเมื่อหยิบประเด็นโรงหนังมาพูด คือ ‘เด็จพ่อ’ ของเรา คริสโตเฟอร์ โนแลนนั่นเอง! 

.

แม้ปีนี้โนแลนจะไม่ได้มีซีนในผลงานอะไรเป็นพิเศษ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 (นอกจาก Tenet จะเข้าฉายแล้ว ปีนั้นยังเป็นช่วงพีคของโควิด-19) เขาถึงกับส่งเรียงความของตนไปตีพิมพ์กับ The Washington Post เนื้อความกล่าวถึงความปกติใหม่ในยุคปัจจุบันที่กำลังนำพาเราออกห่างจากโรงหนัง

.

“เวลาคนพูดถึงหนัง สิ่งแรกที่พวกเขาคิดถึงคือดารา สตูดิโอ และไลฟ์สไตล์สวยหรู แต่ธุรกิจภาพยนตร์เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนขายขนมหน้าโรงหนัง คนฉายหนัง คนขายตั๋ว คนโฆษณา หรือกระทั่งพนักงานทำความสะอาดในโรงหนังท้องถิ่น”

.

และด้วยจุดยืนอันแข็งกล้านี้เอง เขาจึงมุ่งมั่นถ่ายหนังสำหรับฉายโรง IMAX ออกมาเรื่องแล้วเรื่องเล่า เพราะเขาเชื่อในมนตร์เสน่ห์ของโรงภาพยนตร์ที่จะทำงานกับความรู้สึกกับคนดูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว ก็ต่อเมื่อพวกเขาไปชมหนังของโนแลนในโรง

.

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.



Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page