top of page

‘เจ้าหญิงนักปฏิวัติ’ สโนวไวท์ฉบับตีความใหม่ที่ยังอ่อนหวาน แต่ไม่ยอมอ่อนโอน



Waiting for my prince to come ❌Waiting for a wish ✔️

.

นับเป็นภาพยนตร์ดัดแปลง live action อีกเรื่องหนึ่งที่ทำเอาคนรอหายใจไม่ทั่วท้อง กับ Snow White (2025) เรเชล เซกเลอร์ (Rachel Zegler) ผู้รับบทเจ้าหญิงซึ่งตกเป็นถกเถียงมาเป็นปีๆ และตัวบทภาพยนตร์ที่ผ่านรจนาเครื่องเคราใหม่หมด เหลือของเดิมไว้เพียงโครงหลวมๆ และชื่อตัวละคร

.

วันนี้ในคอลัมน์ #ไปดูมาแล้ว The Showhopper ขอรับบทนางรีวิวฉ่ำๆ ก่อนหนึ่งกรุบ โดยจะพยายามสปอยให้น้อยที่สุด ชาวเพจจะได้เปิดอ่านเป็นไกด์ก่อนตัดสินใจซื้อตั๋วอย่างสบายใจ

.

🎵 เพลงขอเปิดด้วยหมวดที่คิดว่าหนังทำได้ดีสุดๆ ก่อนเลยแล้วกัน เพราะเพลงดีงามหลายเพลงม้าก นอกจากตัวชูโรงบทเจ้าหญิงอย่าง Waiting on a Wish ที่ฟังแล้วแสงแทบออกหู อีกเพลงที่ไพเราะและน่ารักชวนอมยิ้มคือ Whistle While You Work ในขณะที่เพลงคู่กับฝ่ายชายทั้งสองเพลงก็ออกมาไม่เลว สมกับที่นักแสดงมีพื้นเพละครกันเวทีทั้งคู่

.

✍️ บทภาพยนตร์ส่วนที่ขอชมคือการตัดสินใจพลิกธีมเดิมจาก “ความบริสุทธิไร้เดียงสาย่อมชนะจิตใจที่คิดริษยา” ที่ดูเป็นความขัดแย้งระหว่างปัจเจก มาเป็น “ผู้นำที่อ้อมอารีและมองเห็นหัวประชาชนย่อมชนะผู้นำที่เห็นแก่ตัวและไร้หัวใจ” ที่ดูเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า โบนัสของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือบทนักสู้ นักปฏิวัติทำนองนี้ดันเหมาะกับเรเชล เซกเลอร์พอดี เจ้าหญิงเวอร์ชั่นนี้เลยออกมาน่าเอาใจช่วย สำหรับฝั่งราชินีใจร้าย (รับบทโดย Gal Gadot) ความงามอาจจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ชีเกาเหลากับเจ้าหญิง แต่สำหรับสโนวไวท์ ประชาชนซึ่งกำลังอดอยากต่างหากที่สำคัญ ถ้าพิจารณาจากแมทีเรียลตั้งต้นที่เดิมแทบไม่แฝงนัยทางการเมืองใดเลย ก็ถือว่าคิดดัดแปลงได้ดี .

แต่ถึงแนวคิดตั้งต้นจะไม่เลว ก็คงต้องขอติว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจจะสะเปะสะปะไปบ้าง เช่น

• หน้าที่ comic relief ในเรื่องที่เดิมที่มีคนแคระอยู่แล้ว เวอร์ชั่นนี้กลับต้องมายื้อแย่งซีนกับกองโจรที่ดูจะทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน• บทราชินีที่เดิมทีเป็นตัวมัม ตัวดิว่า ตัวขโมยซีนสุดๆ พอเวอร์ชั่นนี้ worldbuilding มีรายละเอียดขึ้น แต่กลับไม่ได้ปรับรายละเอียดอะไรให้ชีมากมาย ชีเลยจมไปเยอะ• การปรับบทเจ้าชายสตอล์กเกอร์ (อุ๊ปส์ 🫢) มาเป็นโจนาธาน (รับบทโดย Andrew Burnap) วีรบุรุษในคราบจอมโจรทั่นหนึ่ง ก็ดูเป็นมูฟที่ต่อต้านอำนาจนิยมดี แต่ก็ชวนตั้งคำถามเหมือนกัน ว่าจะไม่ทับไลน์กับยูจีน พระเอก Tangled (2010) ที่เพิ่งจะประกาศจะทำเวอร์ชั่น live action ใช่ไหม

.

🎨 กำกับภาพป่าเป็นฉากที่สำคัญมากกับสโนวไวท์ทุกๆ เวอร์ชั่น และปรากฏว่าในเรื่องมีทั้งฉากป่าที่ทำออกมาได้ดีและฉากป่าที่ตุ้บสุดๆ แล้วเรื่องภาพนี่ เราเชื่อว่าทุกคนสงสัยและเป็นห่วงมาตั้งแต่ตอนปล่อยเทรลเลอร์ตัวแรกๆ ออกมาแล้ว ว่างานภาพจะดร็อปเพราะชุดสีจืดๆ ทึมๆ ของหนังเหมือนคราว Little Mermaid อีกไหม ซึ่งบางฉากก็เป็นไปตามคาด พอเข้าใจได้ว่าเทรนด์การกำกับภาพยุคนี้จะค่อนข้าง ‘mature’ และเน้นความสมจริงมากขึ้น แต่เราคิดว่าในเรื่องถัดไป ดิสนีย์จำเป็นต้องตีความฟังก์ชั่นของหนังของตัวเองให้ขาดกว่านี้ เช่น แสงที่ตกกระทบอย่างสมจริงอาจไม่ได้จำเป็นมากสำหรับหนังแนวนี้ แต่ความสวยวิจิตรและแมจิคัลแบบตาแตกของฉาก อันนี้ต่างหากที่จำเป็นกว่ามาก!  

.

👗 เครื่องแต่งกายเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับงานภาพโดยตรง เครื่องแต่งกายของราชินีใจร้ายน่าจะเป็นตัวละครที่ออกมากลมกล่อมที่สุดในเวอร์ชั่นนี้ ในขณะที่คู่สีแดง-เหลือง-รอยัลบลู สีซิกเนเจอร์ของสโนวไวท์ซึ่งเป็นสีที่สดใสมาก พออยู่ท่ามกลางฉากสีสดที่ทำได้ดีก็ดูดีอยู่หรอก แต่พอไปอยู่ท่ามกลางฉากอื่นที่ดูทึมๆ ชุดก็ยิ่งโดดเด้งไม่เข้ากับองค์ประกอบจนขาดสมดุล

.

🎭 การแสดงอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบเกี่ยวกับสโนว์ไวท์เวอร์ชั่นนี้ คือชีมีความ theatrical หรือมีกลิ่นละครเวทีมากกว่า เมื่อเทียบกับ live action  หลายๆ เรื่องที่ดิสนีย์ทำช่วงสิบปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็น Cinderella (2015) และ Beauty and the Beast (2017) ซึ่งดูจะพยายามแสดงไปในสไตล์ realist (เท่าที่พอจะทำได้ในเนื้อเรื่องนิทานจ๋าๆ) ซึ่งเราคิดว่าพอทำไม่ถึง สิ่งนี้มันทำให้เรื่องยิ่งจืด พอหนนี้ลองเปลี่ยนวิธีลำดับเรื่องและวิธีที่นักแสดงถูกกำกับให้แสดงให้ออกมา theatrical กล่าวคือมีความเล่นใหญ่หน่อยๆ ทั้งทางสีหน้าและภาษากาย ผนวกกับงานเพลงที่ทำได้ดีแล้วมันเปิดช่วยฉายสปอตไลต์ให้นักแสดงได้ไชน์มากกว่า

.

โดยรวม ถือว่าเป็นภาพยนตร์ดัดแปลงที่เหมาะแก่การชวนคอมิวสิคัลและการพาลูกเล็กเด็กแดงไปดูด้วยประการทั้งปวง อาจจะมีจุดที่น่าตั้งคำถามอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ก็เป็นรสชาติใหม่ของเจ้าหญิงดิสนีย์ที่น่าไปลองชิม

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.


コメント


©2023 by The Showhopper

bottom of page