top of page

สำรวจปรากฏการณ์ GELBOYS อะไรที่ทำให้ ‘สยาม’ เป็นพื้นที่แสดงออก ‘pop culture’ ของคนวัยรุ่นไทยไปตลอดกาล

อัปเดตเมื่อ 20 มี.ค.



“รู้จัก กล้วย กล้วยปะ”

 “ลิโด้หรอ เคยได้ยินอยู่”

.

ถ้าให้พูดถึงความเป็นซีรีส์ GELBOYS เราก็จะบอกว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ณ สยามสแควร์ 

.

เพราะไม่ว่าจะเป็นบัวที่ชวนบ้าบิ่นไปกินขนมร้านกล้วย กล้วยก็แถวสยาม โฟร์มดแบกเครื่องดนตรีมาร้องเล่นดนตรีสดกับเพื่อน ก็สยามสแควร์ หรือการติ่ง Blackpink ของบ้าบิ่นที่ทำให้เขาวนเวียนเข้าร้านขายของ Official ศิลปินเกาหลีก็คือแถวสยามเหมือนกัน ยังไม่ต้องพูดถึงการแวะเข้าๆ ออกๆ ร้าน Daddy บ่อยๆ ที่พูดเลยว่านี่มันอัตลักษณ์วัยรุ่นสยามยุคนี้ชัดๆ 

.

รวมถึงการชวนกันไปทำเล็บเจลระหว่างวิเชียร์กับโฟร์มด ที่ชั้น 2 ของลิโด้ ก็ย่านสยามแบบตะโกน และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ‘เฟื่อน’ เพื่อนก็ไม่ใช่ แฟนก็ไม่เชิง เพราะตัวละครเอ่ยขอ ‘กั๊ก’ ไว้ก่อน ทำให้คนดูต้องมานั่งลุ้น (และนั่งทุกข์ เพราะ 6 ตอนที่ผ่านมาเสียน้ำตากันไปเยอะแล้วนะ) กับเรื่องราวความรักของ 4 ตัวละครที่ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าเสาไฟฟ้า และเราจะได้ดูบทสรุปสถานะกั๊ก กับตอนจบที่จะปล่อยให้ได้รับชมกัน พรุ่งนี้แล้ว เดาว่าหลายคนคงหายใจเข้า (นึกถึงเจลบอยส์) หายใจออก (ตกลงใครจะคู่ใคร) กันแทบทุกวินาที 

.

อย่างไรก็ตามซีรีส์ GELBOYS ได้ตะโกนบอกคนดูตั้งแต่ที่ปล่อยตัวอย่างแรกออกมาด้วยซ้ำว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้จะมี ‘สยามสแควร์’ เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก 4 คน ซึ่งก็นับว่าสมเหตุผล เพราะการเป็นวัยรุ่นกรุงเทพฯ ชีวิตและการเติบโตส่วนใหญ่ก็คงผูกติดอยู่กับสยามสแควร์นี่แหละ และการที่ซีรีส์เรื่องนี้ใช้พิกัดนี้มาเล่นกับบรรยากาศที่ชวนให้คิดถึงยุค Y2K อย่างการแอบใส่  Pop Culture ยุค 90 มานิดๆ เช่น การเคยติ่งกามิกาเซ่ของแม่ของโฟร์มด ทำให้ไม่ใช่เพียงเด็กเจน Z ที่รีเลท แต่ยังกินพื้นที่ความอินไปถึงเจน Y และเจนก่อนหน้านั้นที่ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สมัยที่ พี่/น้า/ลุง/ป้า ยังเป็นวัยรุ่น ฉันก็ไปสยาม ไปเรียนพิเศษ ไปเล่นดนตรี ไปจีบผู้จีบสาวเหมือนไอ้เด็กพวกนี้นั่นแหละ

.

และถ้าเราย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2527 มีภาพยนตร์ไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นยุคนั้น โดยตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า ‘สยามสแควร์’ อีก ก็ยิ่งทำให้เราเริ่มสนใจขึ้นมาแล้วว่า ในยุคที่การเดินทางออกไปไหนก็ง่ายขึ้นแล้ว แถมสถานที่ท่องเที่ยวก็เกิดใหม่เยอะแยะ แต่ทำไม ‘สยามสแควร์’ ยังคงเป็นจุดนัดพบที่ครองใจวัยรุ่นกรุงเทพฯ ทุกยุคไปตลอดกาลนะ? เอาล่ะ ‘คอลัมน์ Critique.Critic’ ขอต้อนรับการมาถึงตอนจบซีรีส์ด้วยการหยิบแว่นขยายชวนทุกคนย้อนมาสำรวจที่มาของมุดหมายแห่งนี้กัน

.

[ปรับแปลงผักเป็นศูนย์การค้ากลางเมือง] - ก่อนมี ‘สยามสแควร์’ อันเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)  ‘วังบูรณา’ เป็นย่านท่องเที่ยวหลักของวัยรุ่นช่วงปี 2490 มาก่อน ส่วน ‘สยามสแควร์’ หรือ ‘ย่านปทุมวัน’ ตอนนั้นยังเป็นสวนแปลงผักที่ทำมาหากินของประชาชนในระแวกนั้นอยู่เลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2507 ‘พลเอกประภาส จารุเสถียร’ ต้องการเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ทางจุฬาฯ จึงได้จ้าง บริษัท เซาท์อีสเอเชียนก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีคอน มาพัฒนาที่ดินกว่า 63 ไร่ ให้เป็นอาคารพาณิชย์ 3-4 ชั้น เพื่อสร้างศูนย์การค้าที่รองรับความบันทึกทุกรูปแบบเสิร์ฟให้คนกรุงเทพฯ ตอนนั้นจึงได้มี โรงหนัง ตลาด โรงแรม โบลิ่ง ไอซ์สเกต เกิดขึ้นมา โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า ‘ปทุมวันสแควร์’ ก่อนที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สยามสแควร์’ นั่นเอง

.

[ตามกระแสนิยม เราจัดให้] - หลังเปลี่ยนแปลงผัก ปรับตัวเองให้เป็นศูนย์รวมความบันเทิงชั้นนำ ทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งบันเทิงต่างๆ ตั้งแต่การเป็นผู้นำเทรนด์โรงหนังสแตนอโลนในช่วงยุค 70 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาพยนตร์ทั้งในไทยและในต่างประเทศเป็นที่นิยม การเปิดโรงหนังที่  ‘สยามสแควร์’ ถึง 3 ที่ ได้แก่ โรงหนังสยาม (2510) โรงหนังลิโด้ (2511) และโรงหนังสกาล่า (2513) ก็ยิ่งกระตุ้นความสนใจไม่ใช่แค่เฉพาะวัยรุ่นกรุงเทพฯ นะ แต่ยังรวมถึงผู้คนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดแห่พากันเข้าโรงหนังอย่างไม่ขาดสาย 

.

และตอกย้ำไปอีกว่าจะเอาให้ครบ ด้วยปี พ.ศ. 2528 ยังได้เปิดห้างมาบุญครอง ที่นับว่าเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ทำให้ ‘สยามสแควร์’กลายมาเป็นศูนย์การค้าของกรุงเทพฯ อย่างเต็มตัวที่เรียกเหล่าวัยรุ่นตัวจี๊ดในยุคนั้นหรือพ่อแม่ลุงป้าในยุคนี้ แต่งตัวแฟชันสุดจ๋า สีสันสุดจ๊าบเพื่อออกเดินเก๋ๆ ช็อปปิ้งกันให้กระหน่ำ พอคนมากขึ้นก็ต้องมีดนตรีสิ เพราะคนวัยหนุ่มสาวชอบฟัง 

.

‘สยามสแควร์’ ก็เลยจัดให้ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงดนตรีสดที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินเริ่มมาเดินสายโปรโมทเพลงและจัดคอนเสิร์ตกันที่นี่เลย ขณะเดียวกันย่านนี้ก็ได้ขยายพื้นที่เพื่อรองรับโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ด้วย จนช่วงปี พ.ศ. 2540 มีการปรับตัวของพื้นที่สยามสแควร์ซอย 4 ให้เป็นศูนย์รวมวัยรุ่น โดยเพิ่มลานกิจกรรม ลานน้ำพุ ห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ และศูนย์การค้าสยามพารากอนเข้ามาอีก พอดิบพอดีกับปี พ.ศ. 2542 ที่รถไฟฟ้า BTS สยามเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งมาได้ถูกจังหวะแท้ก็ยิ่งทำให้ย่านนี้ครบเครื่องเรื่องเสิร์ฟความต้องการ ที่ไม่ว่าใครที่อยากมาหาความรู้ ช้อปปิ้ง ฟังเพลง ดูหนัง กินข้าว ต่อด้วยเดินเล่น ก็จบที่  ‘สยามสแควร์’  ได้ในที่เดียวเลย 

.

[แมวมองกระตุ้นวัยรุ่น]  ‘สยามสแควร์’ กลายมาเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่วัยรุ่นไทยมักนัดรวมพลกันซึ่งนอกจากจะนัดเดินเที่ยว ฟังดนตรี หรือพากันถืออุปกรณ์ศิลปะ หนังสือเรียนทำทรงมาเรียนพิเศษ แต่จริงๆ แล้วก็คือมาหาเพื่อนหรือนัดเดทกันนั่นแหละ ซึ่งการเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นในยุคที่โลกยังไม่เข้าสู่ดิจิตอล ก็จะมีเหล่าแมวมองชอบมาส่องหาคนหน้าตาดีที่นี่ เพื่อชักชวนเข้าสู่วงกรบันเทิง จุดนี้ล่ะที่ทำให้ยิ่งกระตุ้นให้วัยรุ่นวัยใสอยากแต่งตัว ออกจากบ้านมาเดินที่นี่มากกว่าเดิม

.

[พื้นที่แสดงตัวตน] ตั้งแต่ยุค 80 - 90s สยามสแควร์ ถูกใช้ให้เป็นโลเคชันในการถ่ายทำภาพยนตร์ ดนตรี มิวสิควิดีโอเพลงกันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ ภาพยนตร์ ‘รักแห่งสยาม’ ซีรีส์ ‘O-Negative รักออกแบบไม่ได้’ MV เพลง ‘ขัดใจ’ หรือ MV เพลง ‘เด็กมีปัญหา’ จากค่าย Kamikaze รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่เกิดเป็นกระแส T-pop และ K-pop  ส่งให้เกิดการรวมตัวกันของด้อมแฟนคลับวัยรุ่นบนพื้นที่นี้เพื่อเต้นโคฟเวอร์ ร้องเพลง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่สะท้อนความสนใจของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ 

.

ยิ่งในช่วงปี 2565 เป็นต้นมา การที่ทางจุฬาฯ ได้ปรับพื้นที่ ‘สยามสแควร์’ ด้วยการรื้อตึกเพื่อเปลี่ยนให้เป็นลานโล่งตอบรับการทำกิจกรรมอย่างเป็นอิสระของวัยรุ่นยุคนี้ การทำ Walking Street หรือ ถนนคนเดินเชื่อมกับ SiamSapce และทำการปิดถนนให้ผู้คนได้ออกมาเดินเล่น นั่งชิล ถ่ายรูป นัดเดท หรืออำนวยความสะดวกให้วัยรุ่นได้ใช้ชีวิตมากขึ้น ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เช้ายันมืด ก็เห็นได้ชัดเลยว่า การปรับเปลี่ยนพื้นที่ครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้สอดรับกับเด็กเจน Z ที่ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนไปด้วยคอนเทนต์นั่นเอง เพราะตั้งแต่นั้นมาเราจะเห็นเหล่าเรียน นักศึกษา และชาววัยรุ่นสยามต่างพากันมาปลดปล่อยตัวตน และความสามารถมากมายโดยใช้พื้นที่นี้เป็นสื่อกลาง 

.

และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงเห็นโฟร์มดมาฟอร์มวงดนตรีกับเพื่อนกันที่ Walking Street นี้ ทำไมบัวกับเชียร์ถึงเลือกเดินมาเต้น K-pop เพื่อทำคอนเทนต์กันแถว Block i  หรือแม้แต่การรวมตัวกันเพื่อโชว์ Random Dance ที่นี่ซึ่งกลายมาเป็นไวรัลคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ก็ยิ่งตอกย้ำว่า ‘สยามสแควร์’ เป็นพื้นที่ที่ให้ความเป็นอิสระทางความคิด ความสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นการแสดงออกถึงตัวตนและแฟชันของวัยรุ่น เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไม ย่านนี้ถึงงสามารถสะท้อนวัฒนธรรม Pop Culture ของวัยรุ่นสยามทุกเจนได้เป็นอย่างดี 

.

และที่สำคัญกว่านั้นหากย้อนมองภาพ ‘สยามสแควร์’ ตั้งแต่ปัจจุบันกลับไปที่จุดเริ่มต้น เราคิดว่า การพยายามพัฒนาและปรับเปลี่ยน พื้นที่สยามสแควร์ให้สอดคล้องกับกระแสนิยม และความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘กลุ่มวัยรุ่น’ มาโดยตลอดก็เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ ‘สยามสแควร์’ ยังคงพื้นที่ในความทรงจำของวัยรุ่นสยามทุกยุคทุกสมัยตลอดไปด้วยเช่นกัน

.

.

เรื่อง Nostalsia Woolf

.

ที่มา: 

.


Yorumlar


©2023 by The Showhopper

bottom of page