top of page

นี่คือ ‘สัตว์สายลับ‘ แห่งโลกภาพยนตร์ รู้จัก ‘Animator’ ผู้สอดส่อง ศึกษา และสรรค์สร้างให้เหล่าตัวละครเคลื่อนไหวและมีชีวิตอย่างสมจริง

  • รูปภาพนักเขียน: Nostalgia Woolf
    Nostalgia Woolf
  • 7 วันที่ผ่านมา
  • ยาว 2 นาที

อัปเดตเมื่อ 6 วันที่ผ่านมา



“ผมจ้างทีมแอนิเมเตอร์เพื่อให้พวกเขามาดูวิดีโอแมวครับ” ‘Gints Zilbalodis’ ผู้กำกับแอนิเมชันเรื่อง ‘Flow’ เล่าถึงกระบวนการออกแบบสร้างน้องแมวดำให้สมจริงนั้น แอนิเมเตอร์ของเรื่องนี้ถึงกับต้องนั่งเฝ้ามองพฤติกรรมน้องกันอย่างละเอียดยิบเลยทีเดียว

.

เห็นแบบนี้แล้ว คุณคิดว่า ‘Animator’ มีหน้าที่ทำอะไร?

.

ถ้าดูกันที่ความหมายของ ‘Animator’ (แอนิเมเตอร์) มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า ‘นักสร้างภาพเคลื่อนไหวและการ์ตูน’ โดยรากศัพท์ของคำนี้มาจาก ‘Anima’ ของภาษาละติน (Latin) ซึ่งแปลว่า ‘ชีวิต’ (Life) เห็นแบบนี้ก็พอเดาได้ไม่ยากเลยว่า กุญแจสำคัญของการเป็นแอนิเมเตอร์ คือการนำให้ ‘ภาพนิ่ง’ เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวทั้งหมด เพื่อใช้ในงานประเภท แอนิเมชัน วิดีโอเกม ภาพยนตร์ โทรทัศน์ งานโฆษณา และสื่ออื่นๆ ที่มีการใช้ภาพเคลื่อนไหวประกอบ

.

ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงนักเชิดหุ่น ที่คอยเชิดหุ่นตัวละครให้แสดงสีหน้า ท่าทางต่างๆ นั่นล่ะแอนิเมเตอร์ก็ทำคล้ายกัน คืออาศัยเครื่องมือเชิดตัวละครให้ทำท่าทางต่างๆ  เพียงแต่เครื่องมือที่ว่านี้ก็จะความต่างกันออกไปขึ้นกับรูปแบบของแอนิเมชัน ซึ่งหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  ได้แก่ 

.

1.แอนิเมเตอร์ที่สร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบ 2 มิติ โดยเน้นวิธีการวาดมือแบบเฟรมต่อเฟรมอย่างที่เราจะได้เห็นในการ์ตูนสมัยก่อน เช่น Snow White and the Seven Dwarfs (1973) หรือ Spirited Away (2001)  2.แอนิเมเตอร์ที่สร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบ 3 มิติ หรือ คอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) โดยพึ่งพาเครื่องมือบนคอมพิวเตอร์ เช่น Toy Story, Shrek  3.แอนิเมเตอร์สต็อปโมชัน (Stop-Motion) ที่ปั้นหุ่น โมเดลตัวละคร และวัตถุประกอบฉากขึ้นมาเป็นต้นแบบในการถ่ายทำ โดยขยับท่าทางของโมเดลไปทีละเฟรม เช่น Memoir of a Snail หรือ Pinocchio ฉบับของ Guillermo del Toro

.

แต่ถ้าใครคิดว่า ในหนึ่งโปรเจกต์ แอนิเมเตอร์จะต้องสร้างภาพเคลื่อนไหวเองทั้งหมดก็ขอยกมือห้าม หยุดก่อนอานนท์ เพราะจริงๆ แล้วภายในทีมแอนิเตอร์จะทำงานโดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปตามความเชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น  ‘Visual Effect Animator’ จะออกแบบสร้างภาพเคลื่อนไหวของวัตถุ ฉากหลัง องค์ประกอบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เช่น ฝน น้ำ หิมะ ไปจนถึงเอฟเฟคต่างๆ  ให้เกิดความลงตัว

.

อีกฝ่ายที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ‘Character Animator’ มีหน้าที่สร้างตัวละครให้เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ คนที่ทำอาชีพนี้จะต้องมีจินตนาการ ช่างสังเกต และตีความเป็น เพราะเมื่อพูดถึงแอนิเมชัน เราไม่ได้ทำงานกับตัวละครที่เป็นมนุษย์เสมอไป แต่เรากำลังทำงานบนความจินตนาการ ส่งผลให้ตัวละครนั้นๆ อาจจะเป็นสัตว์ ปีศาจ สัตว์ประหลาด และโลกของเรื่องราวที่มีความเหนือจริง แอนิเมเตอร์จะต้องมีความเชื่อในสิ่งที่ตนเองกำลังสร้างขึ้นและจะต้องมีความละเอียดสูง

.

เพราะหลังจากที่แอนิเมเตอร์ได้รับสตอรี่บอร์ดพร้อมบรีฟมาจากผู้กำกับแอนิเมชันแล้ว เท่ากับเราต้องอยู่กับตัวละครนั้นๆ จนกว่าจะจบโปรเจกต์ การทำงานจะต้องเริ่มจากทำความเข้าใจลักษณะนิสัยเพื่อดีไซน์การแสดงท่าทางให้สอดคล้องไปกับบุคลิกของตัวละคร ทั้งวิธีการแสดงสีหน้า เวลาโกรธ หรือหัวเราะจะมีท่าทางอย่างไร สีหน้าเป็นแบบไหน ท่าทางการนอน ตกใจ เดิน การขยับขาและจังหวะการก้าวเท้าจะเป็นอย่างไร

.

แอนิเมเตอร์อาจมีวิธีการศึกษาภาษากายก่อนลงมือสร้างที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง เรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs (1937) ทีมงานได้จ้าง ‘Marge Champion’ นักเต้นบัลเลต์มืออาชีพให้มาสวมชุดเจ้าหญิง ก่อนจะทำท่าทางและร่ายรำในท่วงท่าเจ้าหญิง โดยมีกล้องถ่ายบันทึกทุกการเคลื่อนไหวของเธอ ก่อนที่ฟุตเทจวิดีโอดังกล่าวจะถูกส่งมาเป็นแนวทางให้ทีมแอนิเมเตอร์ วาดท่าทางต่างๆ ของสโนไวท์ด้วยมือแบบเฟรมต่อเฟรมอย่างละเอียด ทำให้ตัวละครในแอนิเมชันเรื่องนี้มีสมจริงมากในยุคนั้น 

.

หรือการทำงานของ ‘MontaQue Ruffin’ ผู้ออกแบบสร้างตัวละคร โจ ในแอนิเมชันเรื่อง ‘Soul’ เลือกถ่ายวิดีโอตนเองขณะสวมบทบาทเป็น โจ พูดบทที่ถูกกำหนดไว้ ก่อนจะนำวิดีโอที่อัดมาเป็นต้นแบบในการสร้างการเคลื่อนไหวของ โจ บนจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นอาชีพนี้ไม่ได้พึ่งพาแค่การช่างสังเกต แต่พื้นฐานที่ควรมีเลยก็คือ ความรู้เรื่ององค์ประกอบของแอนิเมชัน

.

หลักการวาดไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนของร่างกาย ท่าทางต่างๆ (gesture drawing)  มุมมองภาพ (perspective) จังหวะการเคลื่อนไหว (Timing & Spacing) การยืดหดและน้ำหนัก (Squash & Stretch) ไปจนถึงทักษะการใช้โปรแกรมและเทคโนโลยี และความรู้ทางด้านการเล่าเรื่องด้วยภาพ การออกแบบตัวละคร แสงเงา เป็นต้น นับเป็นพื้นฐานสำคัญที่แอนิเมเตอร์จะต้องมี

.

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านแอนิเมชันทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยเองด้วย แต่หัวใจสำคัญของผู้ที่สนใจในสายอาชีพนี้เลยก็คือ ต้องมีใจรัก และต้องมีความอดทนสูง เพราะการทำแอนิเมชันใช้เวลาทำนานมาก บางครั้งกว่าตัวละครจะเดินได้อย่างลื่นไหลอาจต้องวาดท่าทาง 24 เฟรม ต่อ 1 วินาทีเลยทีเดียว

.

‘Wendell Lee’ แอนิเมเตอร์ในสตูดิโอ Pixar เล่าว่า “พวกเราใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ในการทำแอนิเมชันประมาณ 3-5 วินาที และใช้เวลาประมาณ 1 ปีก็จะได้งานสัก 1- 2นาที พวกเรามีเว็บไซต์ที่บอกว่าแต่ละคนทำงานได้เท่าไหร่ ผมทำงานที่นี่มา 23 ปี และทำได้ 42 นาทีใน 23 ปีครับ” 

.

.

เรื่อง: Nostalgia Woolf  

.

ภาพโดย : J.Apisit

เครดิตภาพ: DreamWorks Animation, Walt Disney Studios, Dream Well Studio, esma-artistique, Pixar Animation Studios

.

ที่มา:

Inside Pixar Ep.14 on Disney+


.

#TheShowhopper #เปิดโปร #Animator #Animation #แอนิเมชัน #แอนิเมเตอร์ #อาชีพ #โปรดักชัน 


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page