top of page

ครบรอบ 20 ปี 'The Emancipation of Mimi' อัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาลของ 'มารายห์ แครี'



ยื่นไมค์ มา! 🎤 “I can't sleep at night, when you are on my mind.. Bobby Womack's on the radio saying to me, ‘If you think you're lonely now’

Wait a minute this is too deep… too deep”

.

– WE BELONG TOGETHER –

.

🎹 เชื่อว่าทุกคนยังจำหนึ่งในท่อนที่ยอดเยี่ยมที่สุดท่อนนี้ที่ Mariah Carey แต่งเอาไว้ในอัลบั้ม ‘คืนชีพ’ ในตำนานของเธออย่าง The Emancipation of Mimi ซึ่งมีอายุครบ 2 ทศวรรษพอดีในปีนี้กันได้ใช่มั้ยครับ

.

สำหรับใครหลายคนที่รักและเติบโตมากับเพลงสากลในช่วงเวลาอันแสนงดงามของยุค ‘90  ชื่อของ ‘มารายห์ แครี’ จะต้องเป็นชื่อหนึ่งที่เคยส่งเพลงมาผ่านเข้าหูของเราบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเธอจะเป็นศิลปินคนโปรดของคุณหรือไม่ก็ตาม

.

อัจฉริยภาพทางดนตรีอันสมบูรณ์แบบของมารายห์ นอกจากเสียงร้องฟ้าประทานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลายสไตล์ตั้งแต่ ballad โชว์พลัง สู่ pop สดใสร่าเริง จนข้ามขอบเขตไปหางานแบบ R&B และ hip-hop ก็ได้ด้วยแล้ว พรสวรรค์ชั้นเลิศในการแต่งเพลงของเธอทั้งท่วงทำนองและคำร้อง ก็เป็นความมหัศจรรย์อีกอย่างที่เหล่าชาวด้อมมารายห์ หรือที่มีคำเรียกเฉพาะว่า #lambily ล้วนภาคภูมิใจตลอดมา

.

มารายห์มีความสามารถในการเขียนเมโลดี้สวย ๆ จนเกิดเป็นเพลงฮิตมากมายก่ายกอง แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีสกิลในการพร่ำพรรณนาเรื่องราวต่าง ๆ ลงไปในเนื้อเพลงได้อย่างน่าติดตาม บางครั้งก็เป็นสถานการณ์เฉพาะเจาะจงอะไรบางอย่าง เช่น ท่อนที่ยกตัวอย่างไว้ด้านบน หรือการรำพึงรำพันพฤติกรรม ‘ไม่หลับไม่นอนเพราะร้องไห้งอแงเป็นเด็กน้อย’ ที่สนุกมากอย่างในเพลง “Crybaby” จากอัลบั้ม Rainbow เป็นต้น

.

เธอยังมีสกิลในการเลือกสรรคำที่เราไม่ค่อยเห็นในเพลงทั่ว ๆ ไปมาใช้ได้อย่างละเอียดลออลึกซึ้ง จนกลายเป็นความพิเศษที่แตกต่างในบทเพลงของเธออยู่เป็นประจำ บ่อยครั้งก็เป็นคำที่มักจะไม่ค่อยได้ยินในชีวิตประจำวันหรือตามหนังตามซีรีส์เสียด้วยซ้ำ ผมจำได้ว่าต้องมีเปิดดิกชันนารีทุกครั้งเวลาที่อ่านเนื้อเพลงของเธอบนปกเทปคาสเซ็ตต์ (โอ้โห! เก่ามาก) เจอคำอย่าง succumb, unbridled หรือ incessantly ก็ต้องจอดทันที และทุกวันนี้บางคำก็ยังจำความหมายไม่ได้อยู่ดีเพราะไม่ค่อยได้ใช้ 😄

.

.

“It's a special occasion • Mimi's emancipation • A cause for celebration • I ain't gonna let nobody's drama bother me”

– IT’S LIKE THAT –

.

🌈 ครั้งแรกที่ได้ฟัง “It’s Like That” และ “We Belong Together” สองซิงเกิลเปิดตัวจาก The Emancipation of Mimi สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 10 ของเธอเมื่อปี 2005 ผมจำได้ว่าค่อนข้างมีความรู้สึกต่อต้านทันทีด้วยความที่ไม่คุ้นกับซาวด์เพลง hip-hop R&B เพียว ๆ แบบที่ไม่มีส่วนผสมของ pop หลงเหลืออยู่เลยในงานของมารายห์ สาเหตุหลักก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเพราะการโดนหล่อหลอมด้วยเพลงแบบมารายห์ยุคแรกมาเป็นเวลานาน จนทำให้สมองสั่งการว่า ‘นี่ไม่ใช่มารายห์แบบที่เรารู้จักอีกต่อไปแล้ว’

.

มารายห์โด่งดังจากดนตรีในสไตล์ pop ซึ่งเป็นที่นิยมในทศวรรษ 90 และแน่นอนว่าซิกเนเจอร์ของเธอก็คือเพลงช้าขายพลังเสียงที่ทำเอาคนฟังมากมายถูกตกเข้าไปอยู่ในด้อมลูกแกะ ไม่ว่าจะเป็น “Vision of Love”, “Love Takes Time”, “I’ll Be There”, “Endless Love”, “One Sweet Day”, “Without You” หรือเพลงไฮไลท์ตลอดกาลอย่าง “Hero”

.

แม้ว่าเธอจะเริ่มชง R&B เข้ม ๆ เข้ามาคลุกเคล้าอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่อัลบั้ม Butterfly (1997) ซึ่งสัมผัสกันได้ผ่านเพลงอย่างเช่น “Honey”, “Breakdown” หรือ “Fourth of July” แต่โดยรวมแล้วอัลบั้มนี้ก็ยังมีกลิ่นอาย ballad pop หลงเหลืออยู่ ไม่ทิ้งรสชาติเดิม ๆ ไปมากนัก ลองนึกถึงเพลง “My All”, “Butterfly” หรือ “Whenever You Call” ดูได้เลย

.

หรือจะเป็นอัลบั้มถัด ๆ มานับจากนั้นทั้ง Rainbow (1999) และ Charmbracelet (2002) ที่ก็ยังมีทั้ง ballad pop และ R&B ให้ได้ยินกันอยู่ จะมีที่แตกต่างไปหน่อยก็คืออัลบั้ม Glitter (2001) ที่เน้นสไตล์ดนตรีแบบ disco ‘80 ซึ่งเธอเขียนออกมาเพื่อล้อไปกับเซตติ้งปี 1983 ของหนังชื่อเดียวกันที่เธอรับบทนำ

.

.

“Don't let the world break me tonight • I need the strength of You by my side • Sometimes this life can be so cold • I pray You'll come and carry me home”

– FLY LIKE A BIRD –

.

🦋 มารายห์ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำ ‘The Meaning of Mariah Carey’ เมื่อปี 2020 เกี่ยวกับประสบการณ์ ‘Glitter’ ของเธอว่า “มันคือการประสานงากันของความโชคร้าย จังหวะพัง ๆ และการก่อวินาศกรรม”

.

หลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของ pop culture ตลอดยุค 90 ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งมารายห์ถึงขั้นถูกหามส่งโรงพยาบาลเนื่องจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและปัญหาด้านสภาพจิตใจอย่างรุนแรง สถานการณ์นี้ส่งผลให้ Glitter ผลงานภาพยนตร์ที่เธอรับบทนำเป็นครั้งแรก รวมถึงอัลบั้มเพลงประกอบต้องขยับตารางการเปิดตัวออกไป

.

ในเวลานั้นมารายห์กำลังสั่นคลอนทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงาน เธอผ่านการหย่าร้างกับ Tommy Mottola อดีตสามีผู้บริหารค่ายเพลงที่เธอสังกัดอยู่ จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ภายในองค์กรที่ย่ำแย่ ก่อนจะลงเอยด้วยการโยกย้ายไปสู่ค่ายเพลงใหม่ จากนั้นก็ตามมาด้วยความล้มเหลวของ Glitter ทั้งตัวหนังและอัลบั้มเพลงทั้งในเชิงพาณิชย์และคำวิจารณ์ แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็คือ Glitter ดันเปิดตัวในช่วงที่มีเหตุการณ์ 911 พอดี

.

สื่อและผู้คนส่วนใหญ่พากันวิเคราะห์ว่านี่คงเป็นจุดสิ้นสุดความยิ่งใหญ่ของมารายห์ แครีแล้ว เพราะอัลบั้มถัดมาอย่าง Charmbracelet ที่แม้จะมีเพลงดี ๆ อย่างเช่น “Through the Rain”, “My Saving Grace”, “Bringin’ on the Heartbreak” ก็ได้รับการตอบรับแค่ในระดับปานกลาง และดูเหมือนว่าหลังจากนี้เราคงไม่ได้เห็นดีว่าสาวคนนี้มีเพลงขึ้นอันดับ 1 ได้อีก

.

.

“Tell me how many times in your life • Will you get an opportunity like this tonight”

– GET YOUR NUMBER –

.

🎺 ความน่าทึ่งของ “We Belong Together” คือมันเป็น 1 ใน 2 เพลงสุดท้ายที่ถูกแต่งขึ้นสำหรับอัลบั้ม The Emancipation of Mimi (อีกเพลงคือ “It’s Like That”) แต่กลายเป็นเพลงประวัติศาสตร์ที่กู้ศรัทธาคืนมาให้กับมารายห์ และกำหนดตัวตนใหม่ในโลกแห่งเสียงเพลงให้กับเธอในจุดที่ทุกคนคิดว่าอาชีพของเธอจบสิ้นลงแล้ว

.

ความดังเป็นพลุแตกทำให้ “We Belong Together” อยู่อันดับ 1 ชาร์ต Billboard Hot 100 ได้นานถึง 14 สัปดาห์ และตัวอัลบั้มที่เปลี่ยนทิศทางไปหารสชาติแบบ hip-hop R&B จัด ๆ ก็ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกรวมถึงยอดขายที่สดใสไปด้วย

.

มารายห์ได้กลับมาเยือนเวทีแกรมมีอีกครั้ง คราวนี้เธอหอบรางวัลกลับบ้านไปได้ถึง 3 ตัว แม้จะเป็นอีกครั้งที่ไม่ชนะรางวัล Album of the Year (ซึ่งเธอก็ไม่เคยชนะแกรมมีในสาขานี้เลย) แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘Mimi’ คือหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล

.

เธอมักสร้างสรรค์งานเพลงประเภทที่เรียกได้ว่า ‘จับ taste ทางดนตรีที่ดีงามของช่วงเวลานั้น ๆ เอาไว้ได้’ อยู่เสมอ สังเกตได้จากการชิง Album of the Year ทั้ง 3 ครั้งของเธอในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ครั้งแรกจากอัลบั้มเดบิวต์ที่ใช้ชื่อว่า Mariah Carey (1990) เฉย ๆ ซึ่งแคปเจอร์รอยต่อกลิ่นอายแบบปลาย 80 ต้น 90 ได้อย่างมีเสน่ห์ ครั้งที่ 2 จาก Daydream (1995) อัลบั้ม ballad pop รสหวานถูกปากคน ‘90 ที่ฮิตถล่มบ้านถล่มเมืองในยุคสมัย analog ที่โลกยังไม่ไร้พรมแดนเช่นทุกวันนี้ (เอาจริง ผมคิดว่า Glitter ที่จับชีพจรดนตรีแบบ 80 ได้อย่างน่าทึ่ง ก็เป็นอีกอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเธอเช่นกัน #JusticeForGlitter)

.

และครั้งที่ 3 กับ ‘Mimi’ งานดนตรีในเทรนด์ของสหัสวรรษใหม่ที่หากจะบอกว่ามาก่อนกาลก็ไม่น่าผิดแต่อย่างใด เพราะมันยังคงเป็นซาวด์ที่ฟังดูทันสมัยแม้จะล่วงเลยมา 20 ปีแบบนี้แล้วก็ตาม กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่านี่คืออัลบั้มที่มหัศจรรย์อย่างแท้จริง และถูกต้องครับ ทุกวันนี้มันก็กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มโปรดของผมไปเรียบร้อยแล้วด้วย

.

คนรุ่นใหม่อาจรู้จักมารายห์จากมีม ‘It’s time!’ และการหยอกแซวถึง passive income ของเธอที่มาพร้อมเพลง “All I Want for Christmas Is You” แต่ความเป็นจริงเส้นทางศิลปินของแม่หมีนั้นเกรียงไกรมานานแล้วถึง 35 ปี …และ 11 ตุลาคมนี้ก็จะเป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งที่เธอจะกลับมาขึ้นคอนเสิร์ต ‘The Celebration of Mimi’ ให้ #lambies ชาวไทยได้ชื่นใจกัน

.

ดังนั้นคงไม่มีเหตุผลอะไรใช่มั้ยครับที่เราจะไม่ไปร่วมเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ให้กับดีว่าฆ่าไม่ตายผู้ที่อยู่มาทุกยุคตัวจริงเสียงจริง และเป็นหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งโลกเสียงเพลงคนนี้

.

.

“I bet she can't do it like me • She'll never be MC • Baby, don't you, don't you forget about us”

– DON’T FORGET ABOUT US –

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.



Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page