top of page

การต่อสู้ของหนังสยองขวัญ ในออสการ์จาก Genre ที่ถูกมองข้าม สู่การเปิดใจยอมรับ




ผู้เขียนบังเอิญไปอ่านเจอคอมเมนต์ในกระทู้สนทนาของต่างประเทศแห่งหนึ่ง บอกว่า “ถ้าคุณไม่เคยได้ยินเสียงของคนเป็นแม่คร่ำครวญหลังโศกนาฏกรรมที่ปลิดชีพลูกสาวตัวน้อยของตัวเองลงว่าเป็นยังไง… Toni Collette ใน Hereditary (2018) ได้นำเสนอภาพนั้นให้คุณได้ใกล้เคียงที่สุดแล้ว”

.

หากยังจำกันได้ นี่คือหนึ่งในการแสดงอันน่าตื่นตะลึงบ้าคลั่งที่สุดในหนังสยองขวัญยุคใหม่ ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่าน่าเสียดายไม่น้อยที่บทบาทนี้ไม่ได้รับการจดจำจากเวทีรางวัลเท่าที่ควร นอกจากนี้นี่ยังเป็นหนึ่งในเคสตัวอย่างภายใต้หัวข้อสนทนาว่าด้วย ‘หนังสยองขวัญ vs. ออสการ์’ ที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง Critique-Critic ของเราในวันนี้ด้วย

.

ล่าสุดกับหนัง body horror แห่งปี 2024 อย่าง The Substance ที่เกริกเกียรติเกรียงไกรบนเวทีออสการ์ครั้งที่ผ่านมากับการเข้าชิง 5 สาขา ก็กลายเป็นประเด็น talk of the town เล็ก ๆ ขึ้นมา หลัง Demi Moore ซึ่งอยู่ท่ามกลางกระแสเต็งหนึ่ง พลาดออสการ์ให้กับนักแสดงสาวดาวรุ่ง Mikey Madison จาก Anora หนังเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้

.

ว่ากันด้วยการแสดง คงเป็นเรื่องยากหากต้องเปรียบเทียบความยอดเยี่ยม เพราะทั้งแม่เดมี และสาวไมกี้ต่างก็ฝากการแสดงระดับแพรวพราวเป็นของขวัญแด่แฟนหนัง และบันทึกหน้าสำคัญของโลกภาพยนตร์ไว้ทั้งคู่ เราคงปฏิเสธไม่ลงว่าทั้งฉากเช็ดลิปสติกหน้ากระจกของ “Elisabeth Sparkle” ใน The Substance และฉากเปิดเปลือยความรู้สึกที่แท้จริงของ “Ani” ที่อยู่ในรถช่วงท้ายเรื่อง Anora นั้น ล้วนตราตรึงและสะกดผู้ชมได้อยู่หมัดขนาดไหน

.

แต่หากพิจารณาในมุมว่าด้วย ‘แนวหนังขวัญใจออสการ์’ …แน่นอนที่ The Substance คงเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าหนังสยองขวัญนั้นเป็น genre ที่ชนะใจออสการ์ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกินจริง ๆ

.

ปัจจุบันออสการ์มีอายุ 97 ปีแล้ว แต่ในบรรดาภาพยนตร์ที่พาเหรดมาเข้าชิงทั้งหมดตลอดเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น มีหนังแนว horror/thriller กระจายเข้าชิงในสาขาต่าง ๆ ในสัดส่วนที่ถือว่าน้อยมาก ๆ และหากดูกันแค่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็พบว่ามีจำนวนแค่หยิบมือเท่านั้น ได้แก่ Rebecca (1940), Gaslight (1944), The Exorcist (1973), Jaws (1975), The Silence of the Lambs (1991), The Sixth Sense (1999), Black Swan (2010), Get Out (2017), Joker (2019), Nightmare Alley (2021) และ The Substance (2024)

.

[ NOTE: เนื่องจากในความเป็นจริง genre ของหนังแต่ละเรื่องนั้นค่อนข้างมีความกำกวมในตัว ทำให้บางแหล่งข้อมูลอาจนับจำนวนหนัง horror ที่ได้ชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแตกต่างออกไปจากนี้ ]

.

จากรายชื่อด้านบนมีเพียง Rebecca กับ The Silence of the Lambs เท่านั้นที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง และรายชื่อเกือบทุกเรื่องก็เป็นหนังแนวเขย่าขวัญจิตวิทยา (psychological thriller) มากกว่าจะเป็นหนังที่สามารถนิยามตัวเองว่าเป็น ‘เขย่าขวัญล้วน ๆ’ ได้จริง ๆ ซึ่งดูเหมือนจะมีเพียง The Exorcist กับ Jaws เท่านั้น (หรืออาจจะนับ The Substance เข้าไปด้วย ก็น่าจะพอไหวหรือเปล่านะ?)

.

นั่นแปลว่า ‘ออสการ์ไม่ชอบหนัง horror’ จริง ๆ ใช่มั้ย?

.

สรุปแบบนี้คงจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว

.

ความจริงแล้วหนังสยองขวัญได้รับการยกย่องจากออสการ์มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เพราะเพียง 5 ปีนับจากงานออสการ์ครั้งปฐมฤกษ์ หนังเรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1932) ก็กลายเป็นหนังสยองขวัญเรื่องแรกที่คว้าออสการ์มาครองได้สำเร็จจากการเข้าชิงทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่ บทดัดแปลง, กำกับภาพ และชนะไปในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของ Fredric March ผู้รับบท “Dr. Henry Jekyll” หมอที่คิดค้นยาสูตรพิเศษซึ่งสามารถดึงเอาตัวตนด้านมืดของเขาออกมาเป็นอสูรกายบ้าคลั่งนามว่า “Mr. Hyde” ได้

.

นับจากนั้นหนังสยองขวัญก็มีบทบาทวนเวียนอยู่ในเวทีออสการ์มาตลอด โดยเฉพาะในสายงานด้านเทคนิค ซึ่งเป็นแง่มุมที่หนังสยองขวัญสามารถฉายแสงความโดดเด่นได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น Bride of Frankenstein (1935) ซึ่งชิงสาขาบันทึกเสียง, The Birds (1963) ชิงสาขาเทคนิคพิเศษ, The Omen (1976) ชนะสาขาดนตรี, An American Werewolf in London (1981) ชนะสาขาเมคอัพ, หรือ Sleepy Hollow (1999) ที่ชนะสาขากำกับศิลป์

.

ในสาขาใหญ่ ๆ อย่างเช่นสาขาการแสดง ก็มีอยู่หลายครั้งหลายคราที่หนัง horror ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง หรือถึงขั้นชนะรางวัล ไม่ว่าจะเป็น Janet Leigh ที่ชิงจาก Psycho (1960), Bette Davis ชิงจาก What Ever Happened to Baby Jane? (1962), Ruth Gordon ชนะจาก Rosemary’s Baby (1968), Sissy Spacek และ Piper Laurie ชิงจาก Carrie (1976), Kathy Bates ชนะจาก Misery (1990), หรือ Natalie Portman ชนะจาก Black Swan (2010) เป็นต้น

.

กระนั้นแล้วความสยองขวัญ/ระทึกขวัญก็ยังถูกมองว่าเป็นรองเมื่อเทียบกับ genre อื่น ๆ ที่เป็นที่รักของออสการ์อย่างเช่น แนวชีวประวัติ, ย้อนยุค, มหากาพย์, การไล่ล่าความฝัน, หรืออะไรก็ตามที่จับชีพจรของสังคมในเวลานั้น ๆ มาเล่า จนไม่ว่าจะมีหนัง horror/thriller มาเข้าชิงอีกสักกี่เรื่อง ก็ดูเหมือนว่าการชนะออสการ์ในแง่ที่จะสามารถ recognize ความสำคัญของหนังแนวนี้ ให้ไปได้ไกลกว่าแค่ความเฉิดฉายในงานเทคนิค ยังคงเป็นเรื่องยากและห่างไกลความเป็นจริงอยู่เหมือนเดิม

.

บทความ ‘Why do the Oscars still hate horror movies?’ โดย Richard Newby เมื่อปี 2023 วิเคราะห์ว่า ประเด็นสำคัญอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมมักมองว่าหนังเขย่าขวัญมีศักยภาพในการถ่ายทอดคุณค่าทางศิลปะ หรือบอกเล่าความเป็นไปของชีวิตได้ไม่ลึกซึ้งเท่ากับหนังดราม่าหรือหนังตลก ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วความขนพองสยองเกล้านั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพความรู้สึกโดยพื้นฐานของมนุษย์โดยตรง และหนังสยองขวัญก็ช่วยให้เราจัดการกับความกลัว ขยายขอบเขตสู่สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงท้าทายความคาดหวังได้เป็นอย่างดี

.

ในความเห็นของผู้เขียน หนังสยองขวัญอาจถูกมองว่าสร้างมาเพื่อเน้นขายความบันเทิงที่ฉูดฉาด รสชาติตื่นเต้นเร้าใจ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ออสการ์ต้องเฟ้นหาความเป็นหนึ่ง ต่อให้หนังเรื่องนั้นจะมีแมสเสจที่แข็งแรงเพียงใด ก็มักจะโดน “ความระทึกขวัญ” ของมัน ทาบทับลงไปฉาบเป็นความโดดเด่นเหนือกว่าอยู่ที่เลเยอร์บนสุดอยู่ดี นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดีงามที่ซ่อนอยู่ภายในหนังสยองขวัญถูกบดบัง และทำให้มันมักแพ้ทางให้กับหนังดราม่าตลอดมา

.

ปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความสร้างสรรค์ในภาษาภาพยนตร์ทรงพลังมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า หนัง horror/thriller หลายเรื่องเริ่มเจาะลงไปหาประเด็นที่ลึกซึ้งกว่าสมัยก่อน หาใช่เพียงการสร้างความหวาดผวาโดยไร้แก่นสารเพียงอย่างเดียว โดยผูกโยงเรื่องราวสยองขวัญเข้ากับประเด็นร่วมสมัยมากมายที่ถูกยกระดับขึ้นมาให้สะกิดใจผู้ชมได้พอ ๆ กับความสั่นประสาท อาทิ การเหยียดเชื้อชาติ บิวตี้สแตนดาร์ด สภาพกดดันของสังคมยุคใหม่ ฯลฯ

.

หนังสยองขวัญกำลังมุ่งหน้าไปสู่หนังแบบที่ออสการ์ชื่นชอบ การทำให้ผู้ชมได้เผชิญหน้าและรับมือกับความหวาดกลัวกำลังเริ่มถูกมองอย่างมีคุณค่าทางศิลปะมากขึ้น ไม่แพ้กับพลานุภาพในการทำให้คนดูรับมือกับความโศกเศร้า ความคิดถึงคนึงหา หรือความยิ่งใหญ่ในชีวิต ซึ่งเป็นศักยภาพของภาพยนตร์ที่เคยถูกยกย่องด้วยถ้วยรางวัลมาก่อนแล้วนานแสนนาน

.

ออสการ์ยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จากการผสมผสานความหลากหลายที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มสมาชิกของสถาบัน ซึ่งสะท้อนออกมาจากผลรางวัลที่เริ่มแหวกหนังขนบเดิม ๆ ในระยะหลัง เช่น การให้หนังที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษอย่าง Parasite (2019), หนังเหวอ ๆ แนวมัลติเวิร์สอย่าง Everything Everywhere All at Once (2022) หรือหนังชีวิตคนชายขอบที่สตอรีอินดี้และติสท์สุด ๆ อย่าง Anora (2024) ชนะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

.

การที่หนัง Sci-Fi monster horror อย่าง The Substance ติดโผชิงสาขาใหญ่ ๆ รวมถึงหนังยอดเยี่ยม ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าออสการ์กำลังเปิดกว้างให้กับหนังสยองขวัญมากขึ้นอีกระดับ จากที่เมื่อก่อนเราเคยเห็นกันมาแล้วทั้ง psychological horror (The Silence of the Lambs, Black Swan), supernatural horror (The Exorcist, The Sixth Sense) และ adventure horror (Jaws)

.

ในยุคหนึ่งเราเคยได้เห็นว่าออสการ์ไม่ให้พื้นที่หนัง LGBTQ+ มากนัก จนกระทั่งหนังอย่าง Moonlight (2016) คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ และทุกวันนี้คอนเทนต์ LGBTQ+ ก็ไม่ใช่ปัญหากับเวทีออสการ์อีกต่อไป ใครจะรู้ ในไม่ช้านี้การได้เห็นหนังสยองขวัญเต็มตัวเป็นเจ้าของตำแหน่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบ้างอาจไม่ใช่เรื่องเกินจริงก็เป็นได้

.

.

เรื่อง: EGOT Talking Club

.

.

.


留言


©2023 by The Showhopper

bottom of page