Presence : เป็น อยู่ ตาย หนังผี จากมุมมองผี กับเทคนิค Long Take ที่ผู้ชมต้องจับตาทุกองค์ประกอบ
- Gaslight Café
- 27 มี.ค.
- ยาว 1 นาที

‘บ้านสวยหลังหนึ่ง ครอบครัวที่ย้ายมาใหม่ และเหตุการณ์ประหลาดชวนขนลุก’
.
พล็อตแสนซ้ำซากในทำเนียบหนังผีแบบนี้อาจฟังดูไม่น่าดึงดูดสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับคอหนังสยองขวัญที่เชื่อว่าต้องเคยเสพพล็อตแนวที่ว่านี้กันมาแล้วนักต่อนัก แต่กระนั้นแล้ว…ถ้าคุณมั่นใจว่ารู้จักหนังผีดีพอ เราก็อยากท้าทายให้ไปลิ้มลองหนังผีอีกเรื่องที่เปิดโสตประสาทการรับรู้แนวใหม่ และเพิ่งเข้าฉายในบ้านเราสุดสัปดาห์นี้กันครับ
.
โชว์ฮอป #ไปดูมาแล้ว คอนเฟิร์มว่าไม่ควรพลาด และเราจะไม่มีสปอยล์ในบทความนี้อย่างแน่นอน
.
นี่คือ Presence หนังดราม่าเขย่าขวัญทุนต่ำจาก Neon ค่ายหนังอินดี้วิสัยทัศน์เฉียบแหลมแห่งยุคที่เพิ่งเข็น Anora ไปกวาด 5 รางวัลออสการ์มาหมาด ๆ
.
Presence เป็นการร่วมมือกันของผู้กำกับสายคุณภาพ Steven Soderbergh ซึ่งเคยชนะออสการ์จาก Traffic (2000) และเป็นเจ้าของผลงานอย่าง Ocean’s Eleven (2001), Contagion (2011), Magic Mike (2012) กับ David Koepp นักเขียนบทมือฉมังที่เคยรังสรรค์เรื่องราวแสนสนุกให้กับหนังดังในความทรงจำมาแล้วมากมายแทบจะยกเชลฟ์ ไม่ว่าจะเป็น Death Becomes Her (1992), Jurassic Park (1993), Spider-Man (2002), Panic Room (2002), War of the Worlds (2005), Premium Rush (2012) หรือแม้แต่ Jurassic World Rebirth หนังไดโนเสาร์ภาคใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวกรกฎาคมนี้
.
“เป็น อยู่ ตาย” ชื่อไทยสุดเก๋ของหนังซึ่งเล่นคำมาจาก ‘เป็น อยู่ คือ’ อันเป็นคำแปลของ is, am, are ที่คนไทยเราถูกสอนให้ท่องจนเป็นวลีติดปากมาตั้งแต่หัดเรียนภาษาอังกฤษ สะท้อนองค์รวมของหนังได้เถรตรงถูกต้องอย่างที่สุด แถมยังต้องเสริมว่ามันคือชื่อไทยที่สอดคล้องกับความหมายโดยตรงของคำว่า presence อีกต่างหาก
.
presence (n.) [เพรสเซ่นส์] = การมีอยู่, การมีตัวตน, การดำรงอยู่
.
คำนี้ถูกนำมาใช้ในหนังเพื่อกล่าวถึงสิ่งลี้ลับที่ซ่อนเร้นอยู่ในบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม การสิงสถิตและทุก ๆ การเคลื่อนไหวของมันคือการปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัว Asian American ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย Chris พ่อชาวอเมริกัน (แสดงโดย Chris Sullivan), Rebekah แม่เชื้อสายเอเชียน (Lucy Liu), Chloe ลูกสาวคนเล็ก (Callina Liang) และ Tyler ลูกชายคนโต (Eddy Maday)
.
จุดที่น่าสนใจที่สุดคือ การที่หนังหยิบเอาความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มาเป็นหัวใจในการเล่าเรื่องด้วยไอเดียสดใหม่ โดยพลิกมุมมองจากวิถีปกติ ที่โดยทั่วไปแล้วคนดูคงอ่านเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านสายตาของครอบครัวผู้โชคดีครอบครัวนี้ กลายเป็นให้คนดูได้อยู่ในฐานะ ‘presence’ เสียเอง ทวิสต์บิดกลับให้เรากลายเป็นผู้สังเกตการณ์จากโลกวิญญาณแทน! แถมปักธงในใจให้เราไปอีกหนึ่งดอกด้วยความอยากรู้ว่า ‘presence ที่ฉันเป็นอยู่นี้ คืออะไรกันแน่’
.
เฉกเช่นวิธีการเล่าเรื่องในหนังลึกลับเหนือธรรมชาติอีกมากมาย Presence ถูกเล่าโดยค่อย ๆ เพิ่มชิ้นส่วนเรื่องราวของครอบครัวนี้เข้ามา (ไม่ใช่ชิ้นส่วนเรื่องราวของสิ่งลี้ลับอย่างที่เราคุ้นชิน) ซึ่งแต่ละชิ้นดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไรมากมายนักในตอนแรก หรืออาจรู้สึกว่าดูสะเปะสะปะไปเรื่อยด้วยซ้ำในความรู้สึกของผู้ชมบางคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือจิ๊กซอว์ที่กำลังประกอบร่างพาเราเดินไปสู่ไคลแมกซ์ของหนัง
.
ในเมื่อคนดูถูกวางตำแหน่งให้เป็น ‘presence’ แล้ว หนังจึงมาพร้อมมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่งตลอดทั้งเรื่อง ทุกภาพที่ปรากฏบนจอเป็นการแทนสายตาจากโลกอีกมิติ แทนสัมผัสอันน่าอึดอัดจากความโดดเดี่ยวและถูกจำกัด อีกทั้งยังแทนความรู้สึกของการมีอำนาจได้สอดส่องรู้เห็น แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนให้เราหลอนตามไปด้วยเมื่อต้องคิดว่า ‘ถ้ามีใครสักคนยืนจ้องเราแบบนั้นในห้องที่เรากำลังอยู่คนเดียวจริง ๆ จะเป็นยังไง’
.
เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่หนังนำเสนอความรู้สึกของการเป็น ‘ผี’ ให้คนดูได้ลองลิ้มรส ได้รู้จักความน่ากลัวที่เกิดจากความไม่รู้เรื่องรู้ราวในมิติคู่ขนาน ที่คราวนี้กลับกลายเป็นมิติของโลกมนุษย์แทน
.
ความสนุกในการชมอีกอย่าง เกิดจากการใช้ long take ในทุก ๆ ซีนของหนัง (เพราะเหมือนเรากำลังแสดงอยู่ในฉากนั้น ๆ ด้วยตลอดเวลา) ซีนหนึ่งจะถูกแสดงกันไปยาว ๆ จนจบซีน แล้วจึง transition ไปสู่ซีเควนซ์ถัดไปด้วยการตัดเข้าจอดำ
.
ทำให้หลายครั้งเกิดความรู้สึกเหมือนกำลังดูงานละครเวทีที่นักแสดงต้องแม่นคิว และรันกันไปยาว ๆ จนจบฉากนั้น หรือบางครั้งก็ได้แอบคิดเล่น ๆ ว่า เมื่อกล้องเคลื่อนไปอีกห้องหนึ่งแล้ว นักแสดงที่ยังมีเสียงสนทนาจากห้องก่อนหน้านี้ดังต่อเนื่องเข้ามาในจอ จะยังรันการแสดงต่อไปยังไงบ้าง ก่อนที่สุดท้ายกล้องจะเคลื่อนกลับเข้ามาในห้องเดิมอีกครั้ง และเสียงสนทนานั้นก็ดำเนินต่อไปเลยแบบเนียน ๆ
.
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนที่มีปัญหากับตอนจบของหนังครับ อาจไม่เข้าใจได้เลยทันทีในทีแรก แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็คือเข้าใจเลย (และอาจจะรู้สึกว่ามันดูฝืน ๆ นิด ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ตามที่หนังบอกกล่าวมา)
.
เอาเป็นว่า Presence ไม่ใช่หนังดูยาก แต่ก็เป็นหนังที่ต้องตั้งใจดูตั้งใจฟัง เพราะสุดท้ายแล้วชิ้นส่วนบางชิ้นจะกลายเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุดของเรื่องราวครับ
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
Comentários